ทำไมถึงเรียกผู้เข้าพิธีแต่งงานฝ่ายชายว่า “เจ้าบ่าว”

เรื่องที่น่าสนใจ

ในพิธีแต่งงานเป็นธรรมเนียมของไทยที่จะเรียกฝ่ายชายว่า “เจ้าบ่าว” ส่วนฝ่ายหญิงจะเรียกว่า “เจ้าสาว” หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงเรียก “เจ้าบ่าว” วันนี้เราจะมาเฉลยให้ทราบจากผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องของประวัติศาสตร์ของไทย

สาเหตุที่เรียกฝ่ายชายว่า “เจ้าบ่าว” อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้คำอธิบายไว้น่าสนใจ ว่า

ในสังคมไทยสมัยโบราณ ก่อนที่ฝ่ายชายจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวฝ่ายหญิง ต้องเข้าไปเป็น “บ่าว”หรือ “คนใช้” ที่เรือนเขาก่อน เนื่องจากในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การมีแรงงานในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกคนนับเป็นเรื่องดีเพราะจะได้ทำการเกษตรได้มากขึ้นและได้ผลผลิตมากขึ้น ดังนั้นก่อนจะได้แต่งงานจึงต้องไปเป็นคนใช้เขาก่อน ลักษณะดังกล่าวพบเห็นได้ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ขุนช้างขุนแผน คนไทยถึงเรียกผู้ชายว่า “เจ้าบ่าว” แปลว่าคนใช้ พ่อแม่เขาพอใจเมื่อไหร่ ถึงจะยอมยกลูกสาวให้

ความเป็นมาของพิธีแต่งงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พิธีแต่งงานในสมัยโบราณ

เมื่อครอบครัวฝ่าบหญิงให้การยอมรับในฝ่ายชายแล้ว จะมีการกำหนดฤกษ์ยามในการแต่งงานขึ้น พิธีแต่งงานจะเริ่มจากยกขันหมากไปขอขมาพ่อแม่ ทำพิธีกราบไหว้ผีและบรรพบุรุษ ต่อด้วยพิธีสงฆ์ ก่อนจะกินเลี้ยงเหมือนงานบุญทั่วไปเป็นอันจบสิ้นพิธี

พิธีแต่งงานในสมัยคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย

เมื่อคนจีนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เมื่อนานไปก็ได้ให้กำหนดบุตรจนเติบโตเป็นหนุ่ม-สาว ก็จะมีการแต่งงานแบบประเพณีจีน

การแต่งงานแบบจีน จะเริ่มจากการดูฤกษ์แต่งงาน เมื่อถึงวันแต่งเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมารับเจ้าสาว เมื่อมอบสินสอดและเครื่องขันหมากเสร็จเรียบร้อยก็จะทำการสวมแหวนแต่งงาน จากนั้นผู้ใหญ่ก็จะให้พรและเชิญแขกเหรื่อที่มาร่วมงานกินเลี้ยงกัน

จากนั้นก็ถึงขั้นตอนที่เจ้าบ่าวรับตัวเจ้าสาวออกเรือนฝ่ายหญิง โดยต้องมีการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ไหว้บรรพบุรุษด้วย เมื่อไหว้เสร็จแล้วก็จะทำการยกน้ำชาให้พ่อแม่ของเจ้าสาว

เมื่อมาถึงเรือนฝ่ายชายก็จะมีพิธีส่งตัวเข้าหอ จากนั้นผ่านไป 7 หรือ 15 วัน คู่บ่าวสาวกลับไปเยี่ยมบ้านฝ่ายหญิง และจะทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว สุดท้ายก็รับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้ากัน

พิธีแต่งงานในสมัย ร.6 หลังรับวัฒนธรรมจากตะวันตก

คนไทยที่ได้ไปศึกษาในชาติตะวันตกเมื่อกลับมาประเทศไทย ก็ได้นำวัฒนธรรมการแต่งงานของฝรั่งมาด้วย โดยนิยมทำพิธีแต่งงานแบบฝรั่งกันในหมู่ชนชั้นสูงก่อนและแพร่มาสู่สามัญชน แต่ต่อมาก็ได้มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม จนเป็นพิธีแต่งงานที่นิยมในปัจจุบัน

พิธีแต่งงานแม้จะมีวิวัฒนาการมาบ้าง แต่หัวใจสำคัญก็คือการเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของคนสองคนโดยมีแขกเหรื่อที่มาในงานเป็นพยานในความรักของคนทั้งสองนั้นเอง