มหาราช (The Great) เป็นชื่อต่อท้ายพระนามของกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ได้ทำภารกิจอย่างมากมายช่วยเหลือผู้คนทั้งด้านการรบ การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ การรักษาเอกราชของประเทศ คงไว้ด้วยความยุติธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี ในกลุ่มคนที่พูดภาษานั้น ๆ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาราช” เขียนไว้ที่ท้ายพระนาม
สมัญญานาม “มหาราช” สันนิษฐานว่ามาจาก “มหาราชา” ของเปอร์เซีย โดยสมัญญานาม “มหาราช” นี้ถูกใช้ครั้งแรกโดยกษัตริย์ผู้พิชิต พระเจ้าไซรัสที่ 2 แห่งเปอร์เซีย
หลังจากนั้น สมัญญานามดังกล่าวถูกนำไปใช้โดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิดอน เมื่อกองทัพของพระองค์ยึดครองจักรวรรดิเปอร์เซีย และฉายานี้ก็ได้กลายเป็นตำแหน่งคู่กายของพระองค์ การอ้างอิงถึงในครั้งแรกในละครของพลอตัสได้สันนิษฐานว่าทุกคนรู้จัก “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช” อย่างไรก็ตาม ไม่เคยปรากฏหลักฐานก่อนหน้านั้นว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิดอนเคยได้รับฉายาว่า “มหาราช”
ต่อมา กษัตริย์ของจักรวรรดิเซลลูซิดในช่วงต้น ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่เกิดขึ้นภายหลังจักรวรรดิเปอร์เซีย ได้ใช้สมัญญานาม “มหาราช” ในพงศาวดารท้องถิ่น แต่กษัตริย์ที่มักจะเป็นที่รู้จักกัน คือ พระเจ้าแอนไทโอคัสมหาราช
ผู้นำและผู้บัญชาการทหารในเวลาต่อมาได้เริ่มใช้สมัญญานาม “มหาราช” ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น แม่ทัพปอมปีย์มหาราชชาวโรมัน ซึ่งใช้เป็นชื่อส่วนตัว ส่วนอีกหลายคนหรือพระองค์ได้รับสมัญญานามนี้ในภายหลัง เมื่อสมัญญานามนั้นได้นำไปใช้ในปัจจุบัน และยังมีผู้ที่ได้รับฉายาที่ให้เกียรตินี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง อย่างเช่น นักปราชญ์ อัลเบอร์ตัส แม็กนัส เป็นต้น
มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย มีทั้งสิ้น 8 พระองค์
- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช)
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยมหาราช)
- พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (สมเด็จพระภัทรมหาราช)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/